กรมควบคุมโรค เตือน เดินลุยน้ำด้วยเท้าเปล่าเสี่ยงโรคไข้ฉี่หนู

ปัจจุบัน มีหลายพื้นที่ในประเทศได้รับผลกระทบจากฝนตกหนักในช่วงที่ผ่านมา ได้แก่ พื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ที่ถึงแม้ว่าระดับน้ำจะลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังมีน้ำท่วมขังอยู่ อีกทั้งยังมีหลายพื้นที่ของประเทศที่เกิดน้ำท่วมใหม่ โดยเฉพาะพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ซึ่งหากประชาชนในพื้นที่เดินลุยน้ำด้วยเท่าเปล่า อาจทำให้เชื้อไข้ฉี่หนู หรือ โรคฉี่หนู เข้าสู่ร่างกายได้

สถานการณ์ โรคไข้ฉี่หนู ในประเทศไทย
ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 21 พฤศจิกายน 2565 พบผู้ป่วยจำนวน 2,990 ราย เสียชีวิต 36 ราย โดยกลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ 45 – 54 ปี (19.23%) รองลงมา คือ 55 – 64 ปี (17.73 %) และ 35 – 44 ปี (16.99%) ตามลำดับ ทั้งนี้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ร้อยละ 41 และรับจ้างร้อยละ 27 โดยพื้นที่ที่พบอัตราป่วยสูงสุด ได้แก่ ภาคใต้ รองลงมา คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ตามลำดับ

สาเหตุของ โรคไข้ฉี่หนู

โรคไข้ฉี่หนู มักพบมากในช่วงฤดูฝน เกิดจากการติดเชื้อ แบคทีเรียเลปโตสไปรา ที่ปนมากับปัสสาวะของสัตว์นำโรค ได้แก่ หนู สุกร โค กระบือ สุนัข โดยเชื้อดังกล่าวจะไหลลงสู่แหล่งน้ำ หนองน้ำ หรือบริเวณที่เป็นดินชื้นแฉะ และจะมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมนั้น ๆ ได้นานเป็นเดือน ขึ้นกับสภาพแวดล้อมของแต่ละพื้นที่

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ให้ข้อมูลว่า ประชาชนส่วนใหญ่มักจะติดเชื้อจากการสัมผัสกับน้ำหรือดินโคลนที่ปนเปื้อนเชื้อ โดยเชื้อจะสามารถไชเข้าทางผิวหนังที่อ่อนนุ่ม มีแผล หรือผ่านทางเยื่อบุตา จมูก และปาก จากการลงแช่น้ำ ลุยน้ำ ย่ำดินโคลน โดยไม่สวมอุปกรณ์ป้องกัน

อาการของ โรคไข้ฉี่หนู
หลังจากติดเชื้อประมาณ 1 – 2 สัปดาห์ ผู้ป่วยจะเริ่มมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตัว ปวดกล้ามเนื้อโดยเฉพาะที่น่องหรือโคนขา ต่อมาอาจมีตาแดง ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะออกน้อย ไอเป็นเลือด ซึ่งอาการระยะแรกจะคล้ายโรคติดเชื้ออื่น ๆ หากผู้ป่วยซื้อยามารับประทานเองหรือเข้ารับการรักษาล่าช้า ก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนและนำไปสู่การเสียชีวิตได้

วิธีป้องกัน โรคไข้ฉี่หนู
หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลน หากจำเป็นควรสวมรองเท้าบูท ถุงมือยาง ขณะลุยน้ำท่วมขัง ย่ำดินชื้นแฉะ หรือทำความสะอาดบ้านเรือนหลังน้ำลด
หลังลุยน้ำย่ำโคลนหรือลงแช่น้ำ ให้ทำความสะอาดร่างกายด้วยสบู่และน้ำสะอาดทันที
หากมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตัวหรือปวดกล้ามเนื้อ หลังลุยน้ำย่ำโคลนหรือลงแช่น้ำ 1-2 สัปดาห์ อย่าซื้อยามารับประทานเอง ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุดและแจ้งประวัติเสี่ยงให้แพทย์ทราบ จะช่วยป้องกันอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้

ที่มาข้อมูล : www.princhealth.com
หากสนใจเรื่องราวอื่น ๆ สามารถติดตามอ่านต่อได้ที่ iaamart.com