วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง 1

วิกฤตการณ์การเงิน 2540 หรือ วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง เริ่มต้นเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ซึ่งเป็นวันที่ประเทศไทยประกาศลอยตัวค่าเงินบาท และต้องขอความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund : IMF) วิกฤตครั้งนั้นส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจและสร้างความเสียหายอย่างมากต่อประเทศไทย และส่งผลไปถึงภูมิภาคอาเซียนและอีกหลายประเทศในเอเชียจนเป็นวิกฤตทางการเงินในที่สุด

จุดเริ่มต้นของ วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง

วิกฤตเริ่มปะทุขึ้นเมื่อค่าเงินบาทถูกกดดันจากการเก็งกำไรอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นผลมาจากความไม่สมดุลของภาคเศรษฐกิจการเงินไทยในขณะนั้น กล่าวคือ ก่อนที่จะเกิดวิกฤต เงินทุนเอกชนไหลเข้ามาอย่างมากจากการลงทุนโดยการกู้ยืมของเอกชนภายในประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ จนเกิดฟองสบู่ในราคาสินทรัพย์ ซึ่งนำไปสู่เงินทุนและการกู้ยืมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ  ในขณะที่ประเทศไทยดำเนินอัตราแลกเปลี่ยนแบบค่อนข้างคงที่ ซึ่งเป็นนโยบายการเงินในขณะนั้น แม้นโยบายจะสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดการเงิน ทว่ากลับทำให้ผู้กู้และผู้ให้กู้ยืมต่างก็ประเมินความเสี่ยงจากการเปิดรับเงินตราต่างประเทศที่ต่ำเกินไป ทำให้เกิดความไม่สมดุลกันระหว่างระยะเวลาของตราสารทางการเงินในภาคธนาคาร และความไม่สมดุลกันระหว่างปริมาณเงินต่างประเทศในงบการเงินของภาคเอกชน การกู้ยืมเงินจำนวนมากจึงกลายเป็นจุดอ่อนสำคัญของระบบเศรษฐกิจ ที่สำคัญคือ ความไม่สมดุลของตราสารทางการเงินในภาคธนาคารเป็น ‘การกู้สั้น ลงทุนยาว’ กล่าวคือ เป็นการยืมเงินตราต่างประเทศประเภทระยะสั้น แต่มาให้สินเชื่อประเภทระยะยาวกับโครงการก่อสร้างภายในประเทศ ความไม่สมดุลเช่นนี้ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงกับระบบเศรษฐกิจจากการไหลออกของเงินทุนมากขึ้น

ในอีกด้านหนึ่ง การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงอย่างต่อเนื่องจนเรียกได้ว่าเป็น ‘ยุคทอง’ ของเศรษฐกิจไทยก็มีส่วนทำให้ภาคธนาคารไม่มีความสามารถประเมินความเสี่ยงได้เพียงพอ และการกำกับดูแลสินเชื่อขาดความรัดกุมรอบคอบถึงความเสี่ยงต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงการผ่อนปรนการกำกับดูแลสถาบันการเงินจนทำให้การเติบโตของสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารเพิ่มขึ้นอย่างมาก เช่น การให้ใบอนุญาตก่อตั้งสถาบันการเงินที่ง่ายเกินไป ส่งผลให้เมื่อเจอปัญหาสภาพคล่องจากการถอนเงินลงทุนจากต่างชาติ สถาบันการเงินเหล่านี้ก็ล้มละลาย หรือถูกสั่งปิดกิจการ เกิดเป็นวิกฤตการณ์การเงินที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจประเทศ และต่อประชาชนวงกว้าง

วิกฤตต้มยำกุ้ง เป็นวิกฤตการณ์เศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทยสมัยใหม่ แม้จะผ่านมากว่า 25 ปีแล้ว แต่เศรษฐกิจไทยยังมี ‘แผลเป็น’ ที่หลงเหลือมาจากวิกฤตต้มยำกุ้งอยู่ในปัจจุบัน  ดังนั้น การถอดบทเรียนและถ่ายทอดความรู้จากวิกฤตต้มยำกุ้งไม่เพียงแต่จะช่วยให้ ‘คนรุ่นใหม่’ เรียนรู้เพื่อหลีกเลี่ยงและป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตซ้ำรอยกับเศรษฐกิจของประเทศเท่านั้น หากแต่ยังช่วยให้แก้ปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบันได้ดีขึ้นด้วย

สาเหตุของ วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง

สาเหตุของวิกฤตเศรษฐกิจที่นำไปสู่การประกาศยกเลิกอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ และปล่อยค่าเงินบาทลอยตัวในปี 2540 มีประเด็นสำคัญ ดังนี้

  1. การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง

ตั้งแต่ปี 2530-2539 คือ ช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศไทยเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องจนทำในช่วงก่อนวิกฤตตัวเลขขาดดุลสูงถึง 14,000 ล้านดอลลาร์ สรอ. ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกที่หดตัวลงอย่างรุนแรงในปี 2539 (ในปี 2539 การส่งออกขยายตัวเพียงแค่ 1.9% เท่านั้น จากที่เคยขยายตัวสูงถึง 24.82% ในปีก่อนหน้า และเป็นการหดตัวอย่างรุนแรงครั้งแรก ตั้งแต่ประเทศไทยปรับยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจที่เน้นการผลิตเพื่อการส่งออกตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 2510)

  1. ปัญหาหนี้ต่างประเทศ

ช่วงปี 2532-2537 ประเทศไทยเปิดเสรีทางการเงินทำให้สามารถพึ่งพาเงินทุนจากต่างประเทศได้สะดวก โดยไม่มีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากค่าเงินกำหนดไว้ที่ 25 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ผู้กู้ยืมสามารถยืมเงินและคืนเงินกู้ในสกุลเงินตราต่างประเทศได้ในอัตราดังกล่าว ซึ่งเป็นผลจากการที่ประเทศไทยประกาศรับพันธะสัญญาข้อที่ 8 ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศในปี 2533 เพื่อเปิดระบบการเงินของประเทศไทยสู่สากล และในเดือนเมษายน 2534 ประกาศผ่อนคลายการปริวรรตเงินตราต่างประเทศ ในที่สุดเดือนกันยายน 2535 รัฐบาลอนุมัติให้ธนาคารพาณิชย์สามารถจัดตั้งกิจการวิเทศธนกิจไทย (Bangkok International Banking Facilities : BIBF) ต่อมามีธนาคารพาณิชย์ 46 แห่งได้รับมอบใบอนุญาตให้ดำเนินการได้เมื่อเดือนมีนาคม 2536 ทำให้เกิดการขยายตัวของระบบการเงินของประเทศที่ส่งผลต่อการเกิดหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL) ขึ้นมากในสถาบันการเงินและการกู้เงินจากสถาบันการเงินต่างประเทศเพื่อปล่อยกู้ให้กับธุรกิจในเมืองไทย

ณ ปลายปี 2540 หนี้ต่างประเทศของไทยปรับเพิ่มขึ้นสูงถึง 109,276 ล้านดอลลาร์ สรอ. โดยเฉพาะหนี้ต่างประเทศระยะสั้นที่มีสัดส่วนถึง 65% ของหนี้ต่างประเทศทั้งหมด และสัดส่วนเงินสำรองต่อหนี้ระยะสั้นอยู่ในระดับต่ำเพียง 70.40% ขณะที่สถาบันการเงินส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีการบริหารความเสี่ยงต่ออัตราแลกเปลี่ยน

  1. การลงทุนเกินตัวและฟองสบู่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

ช่วงปี 2530-2539 ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวเป็นอย่างมากทั้งในรูปที่ดิน ที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงาน และอาคารชุด ที่มีราคาสูงขึ้นเป็นอย่างมาก เนื่องจากผู้ประกอบการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศและระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศที่กำลังเฟื่องฟู เพื่อมาลงทุนในโครงการอสังหาริมทรัพย์ทั่วประเทศได้ง่าย นอกจากนี้ ราคาอสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องก็เกิดการเก็งกำไร และเกิดแรงจูงใจให้มีผู้เข้ามาลงทุนในธุรกิจนี้อย่างมาก เช่น การซื้อขายใบจองบ้าน ที่ดิน อาคารชุด จนกลายเป็นภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ที่ฝังตัวอยู่ในเศรษฐกิจของประเทศ

  1. ความไม่มีประสิทธิภาพการดำเนินงานของสถาบันการเงิน

ปลายปี 2539 ประเทศไทยเกิดปัญหาขาดความเชื่อมั่นอย่างรุนแรงกับสถาบันการเงินในประเทศ จนรัฐบาลต้องสั่งปิดบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ 18 แห่ง และธนาคารพาณิชย์ 3 แห่ง ต่อมาเดือนมีนาคม 2540 กระทรวงการคลังมีคำสั่งให้สถาบันการเงินเพิ่มทุนอีก 10 แห่ง และเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2540 รัฐบาลต้องสั่งปิดบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ 16 แห่ง วันที่ 5 สิงหาคม 2540 ปิดอีก 42 แห่ง รวมเป็น 58 แห่ง โดยรัฐบาลใช้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงิน (FIDF) หน่วยงานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้าสนับสนุนให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ธนาคารพาณิชย์และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ต่าง ๆ เมื่อลูกหนี้เริ่มไม่สามารถชำระหนี้ได้ โดยเฉพาะภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นภาคที่มีปัญหาการลงทุนเกินกว่ากำลังซื้อของตลาดมากที่สุดและทำให้ธนาคารเกิดปัญหาสภาพคล่อง โดยมี NPL สูงสุดถึง 52.3% ของสินเชื่อภาคอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดเมื่อเดือนพฤษภาคม 2542

ปัญหา NPL จำนวนมากสะท้อนให้เห็นว่าช่วงก่อนวิกฤต กระบวนการพิจารณาสินเชื่อของสถาบันการเงินเป็นไปอย่างหละหลวม ไม่ได้พิจารณาความเป็นไปได้ของโครงการ หรือความสามารถในการชำระเงินคืนอย่างถ่องแท้ มีการปล่อยสินเชื่อให้แก่พวกพ้องหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับนักการเมืองอย่างกว้างขวาง

  1. ความไม่มีประสิทธิภาพต่อการดำเนินนโยบาย

ปี 2536 ประเทศไทยมีนโยบายให้มีการจัดตั้ง BIBF อนุญาตให้มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างเสรี แต่ไม่มีการเตรียมความพร้อมหรือการกำกับดูแลอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการที่ยังคงใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่อยู่ ทำให้ระบบการเงินและเศรษฐกิจของประเทศไม่มีเสถียรภาพ กล่าวคือ เมื่อมีปริมาณเงินในระบบเพิ่มสูงขึ้นจากเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศ ธปท. พยายามดูดซับสภาพคล่องเพื่อตรึงอัตราแลกเปลี่ยนโดยการขายพันธบัตร แต่กลับยิ่งทำให้อัตราดอกเบี้ยที่สูงอยู่แล้ว ยิ่งสูงขึ้น และทำให้มีเงินทุนไหลเข้ามามากยิ่งขึ้นอีก กลายเป็นวัฏจักรที่ไม่รู้จบ

นอกจากนั้นแล้ว มาตรฐานการกำกับดูแลสถาบันการเงินก็ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบความหละหลวมของการปล่อยกู้ได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว กฎเกณฑ์การกำกับดูแลไม่เข้มงวดเพียงพอที่จะทำให้สถาบันการเงินมีฐานะทางการเงินที่เข้มแข็ง

  1. การโจมตีค่าเงินบาท (currency attack)

ปัญหาเศรษฐกิจที่สะสมมานานทำให้นักลงทุนต่างชาติถือโอกาสโจมตีค่าเงินบาท ซึ่งเป็นนักลงทุนขนาดใหญ่และนักลงทุนสถาบันที่ระดมทุนมาเก็งกำไรค่าเงินหรือโจมตีค่าเงินโดยจัดตั้งเป็นกองทุนที่เรียกว่า Quantum Fund (กองทุนนี้เป็นที่รู้จักทั่วโลก เพราะบริหารโดย George Soros) และนักลงทุนอื่นๆ รวมถึงธนาคารพาณิชย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศเป็นอีกกลุ่มที่แสวงหากำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนกับการเก็งกำไรค่าเงินบาทอีกเช่นกัน

ในการโจมตีค่าเงินบาท กลุ่มนักลงทุนเน้นทำลายความเชื่อมั่นของค่าเงิน โดยอาศัยปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศที่อ่อนแอ (การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจำนวนมาก การมีหนี้ระยะสั้นสูงเมื่อเทียบกับเงินสำรองระหว่างประเทศ) มาสร้างกระแสเพื่อให้เกิดข่าวลือว่าจะมีการลดค่าเงินบาท เมื่อตลาดเชื่อข่าวลือกก็ทำให้มีการขายเงินบาทหนีไปถือเงินดอลลาร์ สรอ.  เป็นจำนวนมาก ธปท. จึงนำเงินทุนสำรองทางการถึง 24,000 ล้านดอลลาร์ สรอ. หรือคิดเป็น 2 ใน 3 ของเงินสำรองทั้งหมดมาใช้เพื่อปกป้องค่าเงินบาทจนทำให้เงินสำรองทางการเหลืออยู่เพียง 2,850 ล้านดอลลาร์ สรอ. ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับปลายปี 2539 ที่มีถึง 38,700 ล้านดอลลาร์ สรอ.

จนในที่สุดเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ธปท. ได้ประกาศลอยตัวค่าเงินบาท และถือเป็นวันเริ่มต้นแห่งการเข้าสู่วิกฤตเศรษฐกิจครั้งเลวร้ายที่สุดของเศรษฐกิจไทยสมัยใหม่

วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง 2

นโยบายและมาตรการแก้ไข วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง

การแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจสามารถแบ่งออกเป็น 2 ช่วงเวลา คือ

  1. ช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ (2 กรกฎาคม – พฤศจิกายน 2540)

มาตรการที่ 1 คือ การลอยตัวค่าเงิน เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ประกาศยกเลิกการกำหนดค่าเงินบาทเทียบกับสกุลเงินของประเทศคู่ค้าสำคัญ มาเป็นระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว

มาตรการที่ 2 คือ การเจรจาและขอกู้ยืมเงินกับ IMF โดยมีการลงนามรับเงื่อนไขการกู้เงินเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2540

มาตรการที่ 3 คือ การฟื้นฟูเศรษฐกิจ (มาตรการ 13 ตุลาคม 2540) เช่น การปิดสถาบันการเงิน 58 แห่ง การจัดตั้งองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) เพื่อดำเนินการกับสินทรัพย์ของสถาบันการเงิน 58 แห่งที่ถูกปิดกิจการ และบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน (บบส.) เพื่อรับซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงิน 58 แห่ง

มาตรการที่ 4 คือ นโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจ

  1. มาตรการช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจ (พฤศจิกายน 2540 – ธันวาคม 2543)

มาตรการที่ 1 คือ การใช้นโยบายดอกเบี้ยสูงเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อไม่ให้สูงเกินไป ป้องกันเงินไหลออกนอกประเทศ ทำให้เงินไหลเข้าประเทศสูง และเพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับค่าเงิน(ถ้าค่าเงินบาทแข็งจะทำให้หนี้ต่างประเทศลดลง)

มาตรการที่ 2 คือ การฟื้นฟูสถาบันการเงิน โดยปรส. ประกาศผลการพิจารณาแผนการฟื้นฟูสถาบันการเงินที่ถูกปิดกิจการ 58 แห่ง ทว่ามีเพียง 2 แห่ง คือ บริษัทเงินทุนเกียรตินาคิน จำกัด และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์บางกอกอินเวสเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ที่สามารถเปิดดำเนินกิจการใหม่ได้ ส่วนที่เหลือ 56 แห่งให้เข้ากระบวนการขายทรัพย์สินเพื่อชำระบัญชีต่อไป นอกจากนี้ ในเดือน สิงหาคม 2541 (มาตรการ 14 สิงหาคม 2541) ยังได้ออกแผนฟื้นฟูสถาบันการเงินเน้นเพิ่มเงินกองทุนให้ได้ตามมาตรฐาน BIS (Bank for International Settlement)  เพิ่มทุนให้สถาบันการเงินโดยเงินออมจากประชาชนและขายหุ้นให้ต่างชาติ พร้อมกับขายพันธบัตรให้ประชาชนเพื่อเพิ่มทุนให้ธนาคารพาณิชย์ของรัฐ

มาตรการที่ 3 คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลัง (มาตรการ 10 มีนาคม 2542) โดยการกู้เงินจากญี่ปุ่นตามแผน มิยาซาว่า จำนวน 53,000 ล้านบาท อัดฉีดเศรษฐกิจ และลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จาก 10% เหลือ 7% และลดภาษีน้ำมันเป็นเงิน 23,800 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังปรับลดอัตราภาษีนำเข้าวัตถุดิบเพื่อใช้ผลิตการส่งออก (มาตรการ 10 สิงหาคม 2542) โดยรัฐบาลร่วมกับบรรษัทการเงินระหว่างประเทศตั้งกองทุนเพื่อช่วยเอกชนปรับโครงสร้างหนี้เพื่อลด NPL  เพิ่มทุนให้อุตสาหกรรมขนาดกลางและเล็ก  SME  ให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ปล่อยกู้ยืมเพื่อซื้อบ้านจำนวน 5,000 ล้านบาท

มาตรการที่ 4 คือ มาตรการเสริมอื่น ๆ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับนโยบายอื่นๆ เช่น การเจรจาทำข้อตกลงกับ IMF และการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น

ถอดบทเรียนวิกฤต

หลังวิกฤตต้มยำกุ้งมีการศึกษา ถอดบทเรียน และปฏิรูปเชิงโครงสร้างหลายประการ เพื่อป้องกันและหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดวิฤตซ้ำในอนาคต โดยการปฏิรูปสำคัญที่ช่วยสร้างความเข้มแข็งและพร้อมรับมือผลกระทบต่าง ๆ ในระบบการเงินของประเทศ คือ การจัดตั้งกลไกป้องกันความเสี่ยง (crisis prevention facility) ทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค เช่น

  1. ‘แนวคิดริเริ่มเชียงใหม่’ (Chiang Mai Initiative : CMI)

ปี 2542 รัฐบาลของอาเซียน+3 (ประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ รวมกับจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี) ได้ประชุมร่วมกันโดยตกลงที่จะเสริมสร้างกลไกลช่วยเหลือซึ่งกันและกัน (self-help and support mechanism) ซึ่งต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของประเทศสมาชิกอาเซียน+3 ได้ประชุมที่เชียงใหม่ และตกลงจัดตั้งโครงการเพื่อให้ความช่วยเหลือทางการเงินระดับภูมิภาค หรือ ‘แนวคิดริเริ่มเชียงใหม่’ (Chiang Mai Initiative : CMI) ซึ่งเป็นข้อตกลงจัดตั้งกองทุนเพื่อการกู้ยืมทุนสำรองเงินตราต่างประเทศในกลุ่มอาเซียน เพื่อต่อสู้กับการโจมตีสกุลเงินของประเทศสมาชิกที่เกิดขึ้น

การเกิดขึ้นของ CMI เป็นการถอดบทเรียนจากการที่เมื่อการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียในปี 2540 โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศต่างๆ มักต้องเข้าขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจาก IMF โดยไม่มีทางเลือกอื่น ดังนั้น จึงได้พัฒนาความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและการเงินให้มีความเข้มแข็งและเป็นรูปธรรมมากขึ้น ภายใต้กรอบความร่วมมือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน+3 ได้เห็นชอบให้มีการตั้งกองทุนขนาดเท่ากับ 240,000 ล้านดอลลาร์ สรอ. โดยเริ่มแรกการก่อตั้งเป็นแค่กลไกเพื่อความร่วมมือทางการเงินในภูมิภาค

ในรูปแบบการทำความตกลงแลกเปลี่ยนเงินตราทวิภาคีระหว่างประเทศ แต่ต่อมาได้พัฒนาเป็นรูปแบบพหุภาคีในชื่อ “มาตรการริเริ่มเชียงใหม่พหุภาคี” (Chiang Mai Initiative Multilateralisation : CMIM) มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นกลไกความร่วมมือทางการเงินในภูมิภาค โดยได้ยกระดับการเสริมสภาพคล่องระหว่างกันในกรณีที่ประเทศสมาชิกประสบปัญหาขาดดุลการชำระเงินหรือขาดสภาพคล่องในระยะสั้น และเป็นส่วนเสริมความช่วยเหลือด้านการเงินที่ได้รับจากองค์การเงินระหว่างประเทศ

  1. สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน + 3 (ASEAN+3 Macroeconomic Research Office : AMRO)

เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2559 กลุ่มประเทศอาเซียน+3 ได้จัดตั้งสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน + 3 (ASEAN+3 Macroeconomic Research Office : AMRO) อย่างเป็นทางการในฐานะองค์การระหว่างประเทศ ณ ประเทศสิงคโปร์ โดย AMRO มีหน้าที่ติดตามภาวะเศรษฐกิจ ประเมินแนวโน้ม ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจการเงิน และให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายแก่ประเทศสมาชิก รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินงานของมาตรการริเริ่มเชียงใหม่พหุภาคี ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นกลไกป้องกันวิกฤตเมื่อประเทศสมาชิกประสบปัญหาวิกฤตดุลการชำระเงินหรือปัญหาสภาพคล่องระยะสั้น

การปรับสถานะเป็นองค์การระหว่างประเทศทำให้ AMRO มีประสิทธิภาพและคล่องตัวยิ่งขึ้นในการวิเคราะห์และเตือนภัยทางเศรษฐกิจมหภาค ความยั่งยืนด้านการคลัง และความยั่งยืนในภาคการเงิน ซึ่งจะช่วยให้กลุ่มอาเซียน+3 การป้องกันและรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้นได้ดียิ่งขึ้น

  1. การริเริ่มพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย (Asian Bond Markets Initiative : ABMI)

ประเทศสมาชิกในกลุ่มอาเซียน+3 เล็งเห็นว่า เมื่อเกิดวิกฤตประเทศต้องพึ่งพาแหล่งเงินตราต่างประเทศระยะสั้นจากภายนอกประเทศ จึงได้หันมาพัฒนาตลาดพันธบัตรในภูมิภาคเพื่อเพิ่มช่องทางในการระดมทุน จึงได้มีการจัดตั้งมาตรการริเริ่มพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชียขึ้น (Asian Bond Markets Initiative : ABMI) เมื่อเดือนสิงหาคม 2546

ABMI เป็นโครงการที่เน้นการออกพันธบัตรสกุลเงินท้องถิ่นและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของตลาดพันธบัตร โดยสนับสนุนให้มีการนำเงินออมในประเทศสมาชิกมาลงทุนในระยะยาวในภูมิภาค ด้วยการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ของภูมิภาคให้มีความแข็งแกร่ง น่าเชื่อถือ สามารถเป็นทางเลือกในการลงทุนของผู้มีเงินออมและเป็นแหล่งระดมทุนระยะยาวให้แก่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน กล่าวได้ว่า ABMI เป็นการเสริมสร้างความร่วมมือทางการเงินระหว่างประเทศภายในภูมิภาคด้วยการพัฒนาตลาดตราสารหนี้อย่างเป็นรูปธรรม

  1. การใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง

บทเรียนสำคัญของวิกฤตต้มยำกุ้ง คือ การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบไม่ประมาทตามหลักเศรษฐกิจตามที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดนานกว่า 25 ปี ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจและต่อมาภายหลังได้ทรงเน้นย้ำเป็นแนวทางการแก้ไขเพื่อให้รอดพ้น และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

หัวใจของหลักเศรษฐกิจพอเพียงคือ การพัฒนาเศรษฐกิจที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทางสายกลาง และความไม่ประมาท โดยคำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ตลอดจนใช้ความรู้ความรอบคอบ และคุณธรรม ผลจากการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ คือ การพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และความรู้และเทคโนโลยี

‘มรดก’ และ ‘ภาระ’ ของคนรุ่นใหม่

วิกฤตต้มยำกุ้งเป็นวิกฤตทางการเงินที่เริ่มขึ้นในประเทศไทยและลุกลามไปยังภูมิภาคเอเชียอย่างรวดเร็ว และแม้เวลาจะผ่านมากว่า 25 ปีแล้ว ผลของวิกฤตยังฝังลึกอยู่กับเศรษฐกิจไทยทั้งในด้านที่เป็น ‘มรดก’ และ ‘ภาระ’ ของ ‘คนรุ่นใหม่’ (ที่แม้จะเกิดไม่ทัน)

‘มรดก’ สำคัญของวิกฤตต้มยำกุ้งคือ องค์ความรู้ บทเรียน และกลไกป้องกันความเสี่ยงถูกสร้างขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจไทยต้องเกิดวิกฤตซ้ำอีก โดยเฉพาะการกำกับดูแลที่เข้มแข็งของ ธปท. และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จนทำให้มั่นใจได้ในระดับหนึ่งว่า ปัจจัยภายในประเทศจึงไม่ใช่องค์ประกอบที่จะทำให้เกิดความเสี่ยงให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจได้

กระนั้น ‘ภาระ’ สำคัญที่ตกทอดแก่คนรุ่นใหม่สืบเนื่องมาจากวิกฤตต้มยำกุ้ง คือ หนี้สินที่เกิดขึ้นกับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินที่เข้าไปค้ำประกันและจ่ายคืนให้แก่ผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้ของสถาบันการเงิน โดยเฉพาะสถาบันการเงินที่ถูกปิดกิจการไปตั้งแต่ช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ

ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบ ‘คนรุ่นใหม่’ ย่อมไม่อาจปฏิเสธ ‘มรดก’ และ ‘ภาระ’ ที่เกิดจากวิกฤตต้มยำกุ้ง แต่การเห็นที่มาที่ไป ความผิดพลาด และการถอดบทเรียน ย่อมมีส่วนทำให้สังคมไทยอยู่กับทั้ง ‘มรดก’ และ ‘ภาระ’ จากวิกฤต ได้ดีกว่าเดิม


ข่าวอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
นักเทนนิสชื่อดังชาวอเมริกันผิวดำชื่อ Frances Tiafoe
S&P คาดราคาน้ำมันอาจพุ่งแตะ 121 ดอลลาร์ หากจีนเปิดประเทศ
Everything You Wanted to Know About mega city’s
กรมควบคุมโรค เตือน เดินลุยน้ำด้วยเท้าเปล่าเสี่ยงโรคไข้ฉี่หนู
ติดตามข่าวอื่นๆได้ที่ https://www.iaamart.com/
สนับสนุนโดย  ufabet369
ที่มา www.bot.or.th