Health

  • กรดไหลย้อน เป็นแล้วควรงดอาหารอะไรบ้าง
    กรดไหลย้อน เป็นแล้วควรงดอาหารอะไรบ้าง

    กรดไหลย้อน เป็นแล้วควรงดอาหารอะไรบ้าง

    กรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease: GERD) เป็นภาวะที่น้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปยังหลอดอาหาร ซึ่งเกิดจากกรดในกระเพาะอาหาร จนทำให้เกิดอาการที่รบกวนต่อการชีวิตประจำวัน และเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้ เช่น การอักเสบของหลอดอาหาร โรคกรดไหลย้อนเป็นภัยเงียบที่ส่งผลเสียต่อร่างกาย โดยสาเหตุหลักๆ ของโรคนี้ก็มาจากพฤติกรรมการดำเนินชีวิตของเรานั่นเอง โดยจะทำให้มีอาการแสบร้อนบริเวณลิ้นปี่ ลามขึ้นมาบริเวณหน้าอกหรือลำคอ หลังจากทานอาหารมื้อหนัก และมีอาการเรอมีกลิ่นเปรี้ยว

    กรดไหลย้อน อาการและมีสาเหตุจากอะไรบ้าง ?

    อาการแสบร้อนบริเวณลิ้นปี่แล้วลามขึ้นมาที่หน้าอกหรือคอ ะเป็นมากขึ้นหลังรับประทานอาหารมื้อหนัก การโน้มตัวไปข้างหน้า การยก ของหนัก หรือการนอนหงาย ส่วนอาการอื่นๆ ที่อาจพบได้คือ กลืนลำบาก, กลืนแล้วเจ็บ, เรอบ่อย, ไอเรื้อรัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนกลางคืน, เสียงแหบเรื้อรัง เจ็บคอ และรู้สึก ระคายเคืองทางเดินหายใจ, เจ็บหน้าอกโดยที่ไม่มีปัญหาโรคหัวใจ นอกจากนี้ ยังพบว่า โรคกรดไหลย้อนอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคไซนัสอักเสบเรื้อรังและโรคหอบหืด

    โดยปกติผู้ป่วยที่มีอาการแสบหน้าอก และหรือเรอเปรี้ยว (ทั้งนี้ไม่ควรมีอาการ ที่บ่งบอกว่าน่าจะเป็นโรคอื่น อาทิ น้ำหนักลด อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายเป็น เลือดหรือมีไข้) แพทย์สามารถวินิจฉัย ได้ว่าผู้ป่วยมีภาวะกรดไหลย้อนและให้ การรักษาเบื้องต้นได้เลย โดยจะติดตาม ดูอาการของผู้ป่วย ในบางรายอาจมี ความจำเป็นต้องได้รับการตรวจพิเศษ เช่น การส่องกล้องทางเดินอาหาร การกลืนแป้ง การตรวจวัดการบีบตัว ของหลอดอาหาร และการตรวจวัด ความเป็นกรดด่างในหลอดอาหาร ซึ่ง พบว่าได้ผลแม่นยำที่สุดในปัจจุบัน

    หากมีอาการดังต่อไปนี้ ถือเป็นสัญญาณเตือนของโรคกรดไหลย้อน

    • แสบร้อนบริเวณหน้าอก ซึ่งจะเป็นมากหลังรับประทานอาหารมื้อหนัก
    • มีอาการเรอเปรี้ยว มีน้ำรสเปรี้ยวหรือรสขมไหลย้อนขึ้นมาในปาก
    • ท้องอืด แน่นท้อง คล้ายอาหารไม่ย่อย
    • คลื่นไส้ อาเจียน หลังรับประทานอาหาร
    • เจ็บหน้าอก จุก คล้ายเหมือนมีก้อนติดอยู่ในลำคอ
    • หืดหอบ ไอแห้งๆ เสียงแหบ
    • เจ็บคอเรื้อรัง

    สาเหตุของโรคกรดไหลย้อน

    • หลอดอาหารส่วนปลายคลายตัวโดยที่ยังไม่กลืนอาหาร
    • ความดันจากหูรูดของหลอดอาหารส่วนปลายลดลงต่ำกว่าปกติ หรือเกิดการเลื่อนของกระเพาะอาหารเข้าไปในหลอดอาหาร
    • ความผิดปกติของการบีบตัวของกระเพาะอาหาร หรือหลอดอาหาร ทำให้อาหารค้างอยู่ในกระเพาะอาหารนานกว่าปกติ
    • เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย หรือเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม
    • พฤติกรรมในการดำเนินชีวิต เช่น การรับประทานเสร็จแล้วนอนทันที การรับประทานของมันๆ มากเกินไป
    • ภาวะความเครียด  โดยผู้ที่มีความเครียดมักมีภาวะหลอดอาหารที่มีความไวเกินต่อสิ่งกระตุ้น หลอดอาหารอ่อนไหวต่อกรด เมื่อมีกรดไหลย้อนขึ้นมาแม้เพียงเล็กน้อย จะมีอาการแสดงทันที
    • ปัจจัยอื่นๆ เช่น โรคอ้วน การตั้งครรภ์ สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม การรับประทานยาบางชนิด เป็นต้น

    หนึ่งในสาเหตุของการเกิดโรคกรดไหลย้อน ก็คือ พฤติกรรม “รับประทานแล้วนอน” ซึ่งการนอนจะทำให้หูรูดมีการทำงานที่ไม่ดี เกิดอาการกรดไหลย้อนขึ้นไปได้ รวมไปถึงท่านอนราบยังทำให้กรดไหลย้อนขึ้นไปได้ง่ายกว่าปกติ นอกจากนี้แล้ว การรับประทานอาหารและนอนทันที ยังเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกรดไหลย้อนถึง 2 เท่า

    อย่างที่ทราบกันดีว่า โรคกรดไหลย้อน มักพบในผู้ที่ทำงานออฟฟิศ เนื่องมาจากพฤติกรรมการรับประทานอาหาร แต่ไม่เพียงเท่านั้น โรคกรดไหลย้อนสามารถพบได้ในทุกกลุ่มอายุ เป็นโรคใกล้ตัวที่ใครๆ ก็เป็นได้ โดยผู้ที่มีพฤติกรรมเหล่านี้ มีความเสี่ยงเป็นกรดไหลย้อน

    • รับประทานอาหารไม่เป็นเวลา รับประทานแล้วนอนทันที
    • ชอบรับประทานผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวเป็นประจำ
    • ดื่มสุรา น้ำอัดลม
    • สูบบุหรี่
    • ผู้หญิงตั้งครรภ์
    • มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน หรือโรคอ้วน
    • ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
    • ผู้ป่วยโรคผิวหนังแข็ง
    • รับประทานยาบางชนิด เช่น ยาลดความดันโลหิตสูงบางชนิด ยาแก้โรคซึมเศร้า เป็นต้น

    กรดไหลย้อน

    ปรับพฤติกรรม รักษา“กรดไหลย้อน”

    โรคกรดไหลย้อนพบได้ตั้งแต่เด็กทารกไปจนถึงผู้ใหญ่ ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดในการรักษาและป้องกันโรคนี้ก็คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต เพราะเป็นการรักษาที่ต้นเหตุ และช่วยบรรเทาอาการของผู้ป่วย ซึ่งสามารถทำได้ดังนี้

    • รับประทานอาหารปริมาณน้อยๆ แต่บ่อยครั้ง
    • ไม่ควรนอนทันทีหลังรับประทานอาหาร
    • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา
    • หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด อาหารที่มีไขมันสูง
    • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มชา กาแฟ น้ำอัดลม น้ำผลไม้
    • รับประทานอาหารมื้อเย็น ก่อนเข้านอนอย่างน้อย 3 ชั่วโมง
    • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
    • ไม่สวมใส่เสื้อผ้าที่รัดรูปมากเกินไป

    โรคกรดไหลย้อนหากปล่อยไว้ไม่ทำการรักษา จนกลายเป็นภาวะเรื้อรัง จะส่งผลให้เกิดแผลและรุนแรงจนหลอดอาหารตีบ และอาจร้ายแรงจนทำให้เกิดความเสี่ยงเป็นมะเร็งหลอดอาหารได้ เนื่องจากหลอดอาหารส่วนปลายมีการสัมผัสกับกรดมากเกินไป ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้โรคลุกลามและเรื้อรัง หากมีอาการดังกล่าว ควรรีบไปรับการตรวจวินิจฉัยและจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบทางเดินอาหารและตับ เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้อง

    ป่วยเป็น “กรดไหลย้อน” ควรงดอาหารอะไรบ้าง

    กรดไหลย้อน เป็นโรคที่มักมีอาการเป็นๆ หายๆ หากผู้ป่วยยังคงมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตแบบเดิม โดยเฉพาะอาหารการกินที่ส่งผลให้อาการกรดไหลย้อนเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น อาหารเหล่านี้คืออาหารที่ผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนควรหลีกเลี่ยง

    1. อาหารไขมันสูง

    ผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนควรงดอาหารไขมันสูง เช่น อาหารทอด ๆ อาหารมัน ช็อกโกแลต ฟาสต์ฟู้ด อาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง เช่น กะทิ นม เนย ชีส ไอศกรีม หรือไขมันจากเนื้อสัตว์ เป็นต้น เนื่องจากไขมันจากอาหารเหล่านี้จะไปรวมกับกรดในกระเพาะอาหาร ทำให้เกิดอาการจุก แน่น หรือร้อนที่กลางอกได้

    2. อาหารที่มีแก๊สมาก

    ไม่ว่าจะเป็น น้ำอัดลม ชา กาแฟ โซดา เครื่องดื่มชูกำลัง อาหารที่มีรสเปรี้ยวจัด อาหารรสเผ็ดจัด หรือ ถั่ว เพราะอาหารกลุ่มนี้จะเข้าไปกระตุ้นให้มีการสร้างน้ำย่อยมากยิ่งขึ้น

    3. น้ำส้มสายชู

    น้ำส้มสายชูจัดเป็นเครื่องปรุงรสที่มีกรดมาก ดังนั้นผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนไม่ควรเติมน้ำส้มสายชูลงในอาหาร เพราะจะเป็นการเพิ่มกรดในกระเพาะอาหารมากขึ้นไปอีก

    4. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

    เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ว่าจะเป็นเบียร์ สุรา ไวน์ ค็อกเทล หรือเครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์ทุกชนิด ผู้ป่วยกรดไหลย้อนควรเลี่ยง เพราะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีฤทธิ์กระตุ้นให้กล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารเปิดออก ทำให้กรดจากกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับไปที่หลอดอาหารได้ง่ายขึ้น

    5. ผลไม้ที่มีกรดมาก

    ผลไม้ที่ผู้ป่วยกรดไหลย้อนห้ามกินหรือควรเลี่ยงไว้เป็นดี คือกลุ่มผลไม้ที่มีกรดมาก เช่น ส้ม องุ่น มะนาว มะเขือเทศ สับปะรด หรือน้ำผลไม้รสเปรี้ยวจัด รวมไปถึงซอสมะเขือเทศก็ควรเลี่ยงด้วยเช่นกัน

    6. ผักที่มีกรดแก๊สมาก

    อย่างเช่น หอมหัวใหญ่ดิบ กระเทียม พริก พริกไทย หอมแดง เปปเปอร์มินต์ หรือสะระแหน่ รวมทั้งผักดิบทุกชนิดก็ควรเลี่ยง เพราะผักเหล่านี้จะไปเพิ่มกรดแก๊สในกระเพาะอาหาร ทำให้เกิดอาการแสบร้อนกลางอก

    7. อาหารหมักดอง

    อาหารหมักดองอย่าง ปลาร้า หน่อไม้ดอง ผักกาดดอง ผลไม้ดอง ผลไม้แช่อิ่ม กิมจิ ซูชิบางชนิดที่มีผักดอง ล้วนมีส่วนเพิ่มแก๊สในกระเพาะอาหาร ก่อให้เกิดอาการจุดเสียดแน่นท้องได้

    8. อาหารเสริมที่มีไขมันสูง

    แม้แต่อาหารเสริมบางชนิดก็ควรหลีกเลี่ยง โดยเฉพาะอาหารเสริมจำพวกน้ำมันตับปลา สารสกัดจากกระเทียม วิตามินอี หรือวิตามินซีก็เสี่ยงเพิ่มกรดในกระเพาะได้เช่นกัน

    9. หมากฝรั่ง

    การเคี้ยวหมากฝรั่งเป็นการเพิ่มการหลั่งน้ำลาย ทำให้เราต้องกลืนน้ำลายลงท้องมากขึ้น เท่ากับว่าได้กลืนลมลงกระเพาะอาหารมากขึ้นด้วย ดังนั้นผู้ป่วยกรดไหลย้อนจึงไม่ควรเคี้ยวหมากฝรั่งบ่อยๆ

    การมีวินัย ใส่ใจในการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้ถูกต้อง ไม่เพียงป้องกันโรคกรดไหลย้อนได้ แต่ยังลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังและร้ายแรงอื่นๆ ได้อีกด้วย นอกจากการสังเกตอาการของตนเองแล้ว ผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนบางราย อาจมีอาการแสดงอื่นๆ ที่แตกต่างกันไป อาทิ เจ็บหน้าอก ไซนัสอักเสบ เป็นต้น ซึ่งแพทย์จะต้องตรวจซักประวัติและวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของอาการ โดยวิธีการตรวจวินิจฉัยโรคกรดไหลย้อน เช่น การส่องกล้องตรวจหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น การเอกซเรย์กลืนสารทึบแสง การตรวจการบีบตัวของหลอดอาหาร การตรวจวัดความเป็นกรดด่างในหลอดอาหาร

    ที่มา

     

    ติดตามอ่านเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพได้ที่  iaamart.com

    สนับสนุนโดย  ufabet369

Economy

  • รู้จัก วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง
    รู้จัก วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง

    วิกฤตการณ์การเงิน 2540 หรือ วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง เริ่มต้นเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ซึ่งเป็นวันที่ประเทศไทยประกาศลอยตัวค่าเงินบาท และต้องขอความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund : IMF) วิกฤตครั้งนั้นส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจและสร้างความเสียหายอย่างมากต่อประเทศไทย และส่งผลไปถึงภูมิภาคอาเซียนและอีกหลายประเทศในเอเชียจนเป็นวิกฤตทางการเงินในที่สุด

    จุดเริ่มต้นของ วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง

    วิกฤตเริ่มปะทุขึ้นเมื่อค่าเงินบาทถูกกดดันจากการเก็งกำไรอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นผลมาจากความไม่สมดุลของภาคเศรษฐกิจการเงินไทยในขณะนั้น กล่าวคือ ก่อนที่จะเกิดวิกฤต เงินทุนเอกชนไหลเข้ามาอย่างมากจากการลงทุนโดยการกู้ยืมของเอกชนภายในประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ จนเกิดฟองสบู่ในราคาสินทรัพย์ ซึ่งนำไปสู่เงินทุนและการกู้ยืมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ  ในขณะที่ประเทศไทยดำเนินอัตราแลกเปลี่ยนแบบค่อนข้างคงที่ ซึ่งเป็นนโยบายการเงินในขณะนั้น แม้นโยบายจะสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดการเงิน ทว่ากลับทำให้ผู้กู้และผู้ให้กู้ยืมต่างก็ประเมินความเสี่ยงจากการเปิดรับเงินตราต่างประเทศที่ต่ำเกินไป ทำให้เกิดความไม่สมดุลกันระหว่างระยะเวลาของตราสารทางการเงินในภาคธนาคาร และความไม่สมดุลกันระหว่างปริมาณเงินต่างประเทศในงบการเงินของภาคเอกชน การกู้ยืมเงินจำนวนมากจึงกลายเป็นจุดอ่อนสำคัญของระบบเศรษฐกิจ ที่สำคัญคือ ความไม่สมดุลของตราสารทางการเงินในภาคธนาคารเป็น ‘การกู้สั้น ลงทุนยาว’ กล่าวคือ เป็นการยืมเงินตราต่างประเทศประเภทระยะสั้น แต่มาให้สินเชื่อประเภทระยะยาวกับโครงการก่อสร้างภายในประเทศ ความไม่สมดุลเช่นนี้ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงกับระบบเศรษฐกิจจากการไหลออกของเงินทุนมากขึ้น

    ในอีกด้านหนึ่ง การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงอย่างต่อเนื่องจนเรียกได้ว่าเป็น ‘ยุคทอง’ ของเศรษฐกิจไทยก็มีส่วนทำให้ภาคธนาคารไม่มีความสามารถประเมินความเสี่ยงได้เพียงพอ และการกำกับดูแลสินเชื่อขาดความรัดกุมรอบคอบถึงความเสี่ยงต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงการผ่อนปรนการกำกับดูแลสถาบันการเงินจนทำให้การเติบโตของสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารเพิ่มขึ้นอย่างมาก เช่น การให้ใบอนุญาตก่อตั้งสถาบันการเงินที่ง่ายเกินไป ส่งผลให้เมื่อเจอปัญหาสภาพคล่องจากการถอนเงินลงทุนจากต่างชาติ สถาบันการเงินเหล่านี้ก็ล้มละลาย หรือถูกสั่งปิดกิจการ เกิดเป็นวิกฤตการณ์การเงินที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจประเทศ และต่อประชาชนวงกว้าง

    วิกฤตต้มยำกุ้ง เป็นวิกฤตการณ์เศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทยสมัยใหม่ แม้จะผ่านมากว่า 25 ปีแล้ว แต่เศรษฐกิจไทยยังมี ‘แผลเป็น’ ที่หลงเหลือมาจากวิกฤตต้มยำกุ้งอยู่ในปัจจุบัน  ดังนั้น การถอดบทเรียนและถ่ายทอดความรู้จากวิกฤตต้มยำกุ้งไม่เพียงแต่จะช่วยให้ ‘คนรุ่นใหม่’ เรียนรู้เพื่อหลีกเลี่ยงและป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตซ้ำรอยกับเศรษฐกิจของประเทศเท่านั้น หากแต่ยังช่วยให้แก้ปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบันได้ดีขึ้นด้วย

    สาเหตุของ วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง

    สาเหตุของวิกฤตเศรษฐกิจที่นำไปสู่การประกาศยกเลิกอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ และปล่อยค่าเงินบาทลอยตัวในปี 2540 มีประเด็นสำคัญ ดังนี้

    1. การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง

    ตั้งแต่ปี 2530-2539 คือ ช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศไทยเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องจนทำในช่วงก่อนวิกฤตตัวเลขขาดดุลสูงถึง 14,000 ล้านดอลลาร์ สรอ. ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกที่หดตัวลงอย่างรุนแรงในปี 2539 (ในปี 2539 การส่งออกขยายตัวเพียงแค่ 1.9% เท่านั้น จากที่เคยขยายตัวสูงถึง 24.82% ในปีก่อนหน้า และเป็นการหดตัวอย่างรุนแรงครั้งแรก ตั้งแต่ประเทศไทยปรับยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจที่เน้นการผลิตเพื่อการส่งออกตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 2510)

    1. ปัญหาหนี้ต่างประเทศ

    ช่วงปี 2532-2537 ประเทศไทยเปิดเสรีทางการเงินทำให้สามารถพึ่งพาเงินทุนจากต่างประเทศได้สะดวก โดยไม่มีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากค่าเงินกำหนดไว้ที่ 25 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ผู้กู้ยืมสามารถยืมเงินและคืนเงินกู้ในสกุลเงินตราต่างประเทศได้ในอัตราดังกล่าว ซึ่งเป็นผลจากการที่ประเทศไทยประกาศรับพันธะสัญญาข้อที่ 8 ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศในปี 2533 เพื่อเปิดระบบการเงินของประเทศไทยสู่สากล และในเดือนเมษายน 2534 ประกาศผ่อนคลายการปริวรรตเงินตราต่างประเทศ ในที่สุดเดือนกันยายน 2535 รัฐบาลอนุมัติให้ธนาคารพาณิชย์สามารถจัดตั้งกิจการวิเทศธนกิจไทย (Bangkok International Banking Facilities : BIBF) ต่อมามีธนาคารพาณิชย์ 46 แห่งได้รับมอบใบอนุญาตให้ดำเนินการได้เมื่อเดือนมีนาคม 2536 ทำให้เกิดการขยายตัวของระบบการเงินของประเทศที่ส่งผลต่อการเกิดหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL) ขึ้นมากในสถาบันการเงินและการกู้เงินจากสถาบันการเงินต่างประเทศเพื่อปล่อยกู้ให้กับธุรกิจในเมืองไทย

    ณ ปลายปี 2540 หนี้ต่างประเทศของไทยปรับเพิ่มขึ้นสูงถึง 109,276 ล้านดอลลาร์ สรอ. โดยเฉพาะหนี้ต่างประเทศระยะสั้นที่มีสัดส่วนถึง 65% ของหนี้ต่างประเทศทั้งหมด และสัดส่วนเงินสำรองต่อหนี้ระยะสั้นอยู่ในระดับต่ำเพียง 70.40% ขณะที่สถาบันการเงินส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีการบริหารความเสี่ยงต่ออัตราแลกเปลี่ยน

    1. การลงทุนเกินตัวและฟองสบู่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

    ช่วงปี 2530-2539 ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวเป็นอย่างมากทั้งในรูปที่ดิน ที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงาน และอาคารชุด ที่มีราคาสูงขึ้นเป็นอย่างมาก เนื่องจากผู้ประกอบการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศและระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศที่กำลังเฟื่องฟู เพื่อมาลงทุนในโครงการอสังหาริมทรัพย์ทั่วประเทศได้ง่าย นอกจากนี้ ราคาอสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องก็เกิดการเก็งกำไร และเกิดแรงจูงใจให้มีผู้เข้ามาลงทุนในธุรกิจนี้อย่างมาก เช่น การซื้อขายใบจองบ้าน ที่ดิน อาคารชุด จนกลายเป็นภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ที่ฝังตัวอยู่ในเศรษฐกิจของประเทศ

    1. ความไม่มีประสิทธิภาพการดำเนินงานของสถาบันการเงิน

    ปลายปี 2539 ประเทศไทยเกิดปัญหาขาดความเชื่อมั่นอย่างรุนแรงกับสถาบันการเงินในประเทศ จนรัฐบาลต้องสั่งปิดบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ 18 แห่ง และธนาคารพาณิชย์ 3 แห่ง ต่อมาเดือนมีนาคม 2540 กระทรวงการคลังมีคำสั่งให้สถาบันการเงินเพิ่มทุนอีก 10 แห่ง และเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2540 รัฐบาลต้องสั่งปิดบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ 16 แห่ง วันที่ 5 สิงหาคม 2540 ปิดอีก 42 แห่ง รวมเป็น 58 แห่ง โดยรัฐบาลใช้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงิน (FIDF) หน่วยงานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้าสนับสนุนให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ธนาคารพาณิชย์และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ต่าง ๆ เมื่อลูกหนี้เริ่มไม่สามารถชำระหนี้ได้ โดยเฉพาะภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นภาคที่มีปัญหาการลงทุนเกินกว่ากำลังซื้อของตลาดมากที่สุดและทำให้ธนาคารเกิดปัญหาสภาพคล่อง โดยมี NPL สูงสุดถึง 52.3% ของสินเชื่อภาคอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดเมื่อเดือนพฤษภาคม 2542

    ปัญหา NPL จำนวนมากสะท้อนให้เห็นว่าช่วงก่อนวิกฤต กระบวนการพิจารณาสินเชื่อของสถาบันการเงินเป็นไปอย่างหละหลวม ไม่ได้พิจารณาความเป็นไปได้ของโครงการ หรือความสามารถในการชำระเงินคืนอย่างถ่องแท้ มีการปล่อยสินเชื่อให้แก่พวกพ้องหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับนักการเมืองอย่างกว้างขวาง

    1. ความไม่มีประสิทธิภาพต่อการดำเนินนโยบาย

    ปี 2536 ประเทศไทยมีนโยบายให้มีการจัดตั้ง BIBF อนุญาตให้มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างเสรี แต่ไม่มีการเตรียมความพร้อมหรือการกำกับดูแลอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการที่ยังคงใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่อยู่ ทำให้ระบบการเงินและเศรษฐกิจของประเทศไม่มีเสถียรภาพ กล่าวคือ เมื่อมีปริมาณเงินในระบบเพิ่มสูงขึ้นจากเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศ ธปท. พยายามดูดซับสภาพคล่องเพื่อตรึงอัตราแลกเปลี่ยนโดยการขายพันธบัตร แต่กลับยิ่งทำให้อัตราดอกเบี้ยที่สูงอยู่แล้ว ยิ่งสูงขึ้น และทำให้มีเงินทุนไหลเข้ามามากยิ่งขึ้นอีก กลายเป็นวัฏจักรที่ไม่รู้จบ

    นอกจากนั้นแล้ว มาตรฐานการกำกับดูแลสถาบันการเงินก็ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบความหละหลวมของการปล่อยกู้ได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว กฎเกณฑ์การกำกับดูแลไม่เข้มงวดเพียงพอที่จะทำให้สถาบันการเงินมีฐานะทางการเงินที่เข้มแข็ง

    1. การโจมตีค่าเงินบาท (currency attack)

    ปัญหาเศรษฐกิจที่สะสมมานานทำให้นักลงทุนต่างชาติถือโอกาสโจมตีค่าเงินบาท ซึ่งเป็นนักลงทุนขนาดใหญ่และนักลงทุนสถาบันที่ระดมทุนมาเก็งกำไรค่าเงินหรือโจมตีค่าเงินโดยจัดตั้งเป็นกองทุนที่เรียกว่า Quantum Fund (กองทุนนี้เป็นที่รู้จักทั่วโลก เพราะบริหารโดย George Soros) และนักลงทุนอื่นๆ รวมถึงธนาคารพาณิชย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศเป็นอีกกลุ่มที่แสวงหากำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนกับการเก็งกำไรค่าเงินบาทอีกเช่นกัน

    ในการโจมตีค่าเงินบาท กลุ่มนักลงทุนเน้นทำลายความเชื่อมั่นของค่าเงิน โดยอาศัยปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศที่อ่อนแอ (การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจำนวนมาก การมีหนี้ระยะสั้นสูงเมื่อเทียบกับเงินสำรองระหว่างประเทศ) มาสร้างกระแสเพื่อให้เกิดข่าวลือว่าจะมีการลดค่าเงินบาท เมื่อตลาดเชื่อข่าวลือกก็ทำให้มีการขายเงินบาทหนีไปถือเงินดอลลาร์ สรอ.  เป็นจำนวนมาก ธปท. จึงนำเงินทุนสำรองทางการถึง 24,000 ล้านดอลลาร์ สรอ. หรือคิดเป็น 2 ใน 3 ของเงินสำรองทั้งหมดมาใช้เพื่อปกป้องค่าเงินบาทจนทำให้เงินสำรองทางการเหลืออยู่เพียง 2,850 ล้านดอลลาร์ สรอ. ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับปลายปี 2539 ที่มีถึง 38,700 ล้านดอลลาร์ สรอ.

    จนในที่สุดเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ธปท. ได้ประกาศลอยตัวค่าเงินบาท และถือเป็นวันเริ่มต้นแห่งการเข้าสู่วิกฤตเศรษฐกิจครั้งเลวร้ายที่สุดของเศรษฐกิจไทยสมัยใหม่

    วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง 2

    นโยบายและมาตรการแก้ไข วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง

    การแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจสามารถแบ่งออกเป็น 2 ช่วงเวลา คือ

    1. ช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ (2 กรกฎาคม – พฤศจิกายน 2540)

    มาตรการที่ 1 คือ การลอยตัวค่าเงิน เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ประกาศยกเลิกการกำหนดค่าเงินบาทเทียบกับสกุลเงินของประเทศคู่ค้าสำคัญ มาเป็นระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว

    มาตรการที่ 2 คือ การเจรจาและขอกู้ยืมเงินกับ IMF โดยมีการลงนามรับเงื่อนไขการกู้เงินเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2540

    มาตรการที่ 3 คือ การฟื้นฟูเศรษฐกิจ (มาตรการ 13 ตุลาคม 2540) เช่น การปิดสถาบันการเงิน 58 แห่ง การจัดตั้งองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) เพื่อดำเนินการกับสินทรัพย์ของสถาบันการเงิน 58 แห่งที่ถูกปิดกิจการ และบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน (บบส.) เพื่อรับซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงิน 58 แห่ง

    มาตรการที่ 4 คือ นโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจ

    1. มาตรการช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจ (พฤศจิกายน 2540 – ธันวาคม 2543)

    มาตรการที่ 1 คือ การใช้นโยบายดอกเบี้ยสูงเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อไม่ให้สูงเกินไป ป้องกันเงินไหลออกนอกประเทศ ทำให้เงินไหลเข้าประเทศสูง และเพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับค่าเงิน(ถ้าค่าเงินบาทแข็งจะทำให้หนี้ต่างประเทศลดลง)

    มาตรการที่ 2 คือ การฟื้นฟูสถาบันการเงิน โดยปรส. ประกาศผลการพิจารณาแผนการฟื้นฟูสถาบันการเงินที่ถูกปิดกิจการ 58 แห่ง ทว่ามีเพียง 2 แห่ง คือ บริษัทเงินทุนเกียรตินาคิน จำกัด และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์บางกอกอินเวสเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ที่สามารถเปิดดำเนินกิจการใหม่ได้ ส่วนที่เหลือ 56 แห่งให้เข้ากระบวนการขายทรัพย์สินเพื่อชำระบัญชีต่อไป นอกจากนี้ ในเดือน สิงหาคม 2541 (มาตรการ 14 สิงหาคม 2541) ยังได้ออกแผนฟื้นฟูสถาบันการเงินเน้นเพิ่มเงินกองทุนให้ได้ตามมาตรฐาน BIS (Bank for International Settlement)  เพิ่มทุนให้สถาบันการเงินโดยเงินออมจากประชาชนและขายหุ้นให้ต่างชาติ พร้อมกับขายพันธบัตรให้ประชาชนเพื่อเพิ่มทุนให้ธนาคารพาณิชย์ของรัฐ

    มาตรการที่ 3 คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลัง (มาตรการ 10 มีนาคม 2542) โดยการกู้เงินจากญี่ปุ่นตามแผน มิยาซาว่า จำนวน 53,000 ล้านบาท อัดฉีดเศรษฐกิจ และลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จาก 10% เหลือ 7% และลดภาษีน้ำมันเป็นเงิน 23,800 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังปรับลดอัตราภาษีนำเข้าวัตถุดิบเพื่อใช้ผลิตการส่งออก (มาตรการ 10 สิงหาคม 2542) โดยรัฐบาลร่วมกับบรรษัทการเงินระหว่างประเทศตั้งกองทุนเพื่อช่วยเอกชนปรับโครงสร้างหนี้เพื่อลด NPL  เพิ่มทุนให้อุตสาหกรรมขนาดกลางและเล็ก  SME  ให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ปล่อยกู้ยืมเพื่อซื้อบ้านจำนวน 5,000 ล้านบาท

    มาตรการที่ 4 คือ มาตรการเสริมอื่น ๆ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับนโยบายอื่นๆ เช่น การเจรจาทำข้อตกลงกับ IMF และการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น

    ถอดบทเรียนวิกฤต

    หลังวิกฤตต้มยำกุ้งมีการศึกษา ถอดบทเรียน และปฏิรูปเชิงโครงสร้างหลายประการ เพื่อป้องกันและหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดวิฤตซ้ำในอนาคต โดยการปฏิรูปสำคัญที่ช่วยสร้างความเข้มแข็งและพร้อมรับมือผลกระทบต่าง ๆ ในระบบการเงินของประเทศ คือ การจัดตั้งกลไกป้องกันความเสี่ยง (crisis prevention facility) ทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค เช่น

    1. ‘แนวคิดริเริ่มเชียงใหม่’ (Chiang Mai Initiative : CMI)

    ปี 2542 รัฐบาลของอาเซียน+3 (ประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ รวมกับจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี) ได้ประชุมร่วมกันโดยตกลงที่จะเสริมสร้างกลไกลช่วยเหลือซึ่งกันและกัน (self-help and support mechanism) ซึ่งต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของประเทศสมาชิกอาเซียน+3 ได้ประชุมที่เชียงใหม่ และตกลงจัดตั้งโครงการเพื่อให้ความช่วยเหลือทางการเงินระดับภูมิภาค หรือ ‘แนวคิดริเริ่มเชียงใหม่’ (Chiang Mai Initiative : CMI) ซึ่งเป็นข้อตกลงจัดตั้งกองทุนเพื่อการกู้ยืมทุนสำรองเงินตราต่างประเทศในกลุ่มอาเซียน เพื่อต่อสู้กับการโจมตีสกุลเงินของประเทศสมาชิกที่เกิดขึ้น

    การเกิดขึ้นของ CMI เป็นการถอดบทเรียนจากการที่เมื่อการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียในปี 2540 โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศต่างๆ มักต้องเข้าขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจาก IMF โดยไม่มีทางเลือกอื่น ดังนั้น จึงได้พัฒนาความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและการเงินให้มีความเข้มแข็งและเป็นรูปธรรมมากขึ้น ภายใต้กรอบความร่วมมือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน+3 ได้เห็นชอบให้มีการตั้งกองทุนขนาดเท่ากับ 240,000 ล้านดอลลาร์ สรอ. โดยเริ่มแรกการก่อตั้งเป็นแค่กลไกเพื่อความร่วมมือทางการเงินในภูมิภาค

    ในรูปแบบการทำความตกลงแลกเปลี่ยนเงินตราทวิภาคีระหว่างประเทศ แต่ต่อมาได้พัฒนาเป็นรูปแบบพหุภาคีในชื่อ “มาตรการริเริ่มเชียงใหม่พหุภาคี” (Chiang Mai Initiative Multilateralisation : CMIM) มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นกลไกความร่วมมือทางการเงินในภูมิภาค โดยได้ยกระดับการเสริมสภาพคล่องระหว่างกันในกรณีที่ประเทศสมาชิกประสบปัญหาขาดดุลการชำระเงินหรือขาดสภาพคล่องในระยะสั้น และเป็นส่วนเสริมความช่วยเหลือด้านการเงินที่ได้รับจากองค์การเงินระหว่างประเทศ

    1. สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน + 3 (ASEAN+3 Macroeconomic Research Office : AMRO)

    เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2559 กลุ่มประเทศอาเซียน+3 ได้จัดตั้งสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน + 3 (ASEAN+3 Macroeconomic Research Office : AMRO) อย่างเป็นทางการในฐานะองค์การระหว่างประเทศ ณ ประเทศสิงคโปร์ โดย AMRO มีหน้าที่ติดตามภาวะเศรษฐกิจ ประเมินแนวโน้ม ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจการเงิน และให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายแก่ประเทศสมาชิก รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินงานของมาตรการริเริ่มเชียงใหม่พหุภาคี ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นกลไกป้องกันวิกฤตเมื่อประเทศสมาชิกประสบปัญหาวิกฤตดุลการชำระเงินหรือปัญหาสภาพคล่องระยะสั้น

    การปรับสถานะเป็นองค์การระหว่างประเทศทำให้ AMRO มีประสิทธิภาพและคล่องตัวยิ่งขึ้นในการวิเคราะห์และเตือนภัยทางเศรษฐกิจมหภาค ความยั่งยืนด้านการคลัง และความยั่งยืนในภาคการเงิน ซึ่งจะช่วยให้กลุ่มอาเซียน+3 การป้องกันและรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้นได้ดียิ่งขึ้น

    1. การริเริ่มพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย (Asian Bond Markets Initiative : ABMI)

    ประเทศสมาชิกในกลุ่มอาเซียน+3 เล็งเห็นว่า เมื่อเกิดวิกฤตประเทศต้องพึ่งพาแหล่งเงินตราต่างประเทศระยะสั้นจากภายนอกประเทศ จึงได้หันมาพัฒนาตลาดพันธบัตรในภูมิภาคเพื่อเพิ่มช่องทางในการระดมทุน จึงได้มีการจัดตั้งมาตรการริเริ่มพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชียขึ้น (Asian Bond Markets Initiative : ABMI) เมื่อเดือนสิงหาคม 2546

    ABMI เป็นโครงการที่เน้นการออกพันธบัตรสกุลเงินท้องถิ่นและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของตลาดพันธบัตร โดยสนับสนุนให้มีการนำเงินออมในประเทศสมาชิกมาลงทุนในระยะยาวในภูมิภาค ด้วยการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ของภูมิภาคให้มีความแข็งแกร่ง น่าเชื่อถือ สามารถเป็นทางเลือกในการลงทุนของผู้มีเงินออมและเป็นแหล่งระดมทุนระยะยาวให้แก่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน กล่าวได้ว่า ABMI เป็นการเสริมสร้างความร่วมมือทางการเงินระหว่างประเทศภายในภูมิภาคด้วยการพัฒนาตลาดตราสารหนี้อย่างเป็นรูปธรรม

    1. การใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง

    บทเรียนสำคัญของวิกฤตต้มยำกุ้ง คือ การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบไม่ประมาทตามหลักเศรษฐกิจตามที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดนานกว่า 25 ปี ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจและต่อมาภายหลังได้ทรงเน้นย้ำเป็นแนวทางการแก้ไขเพื่อให้รอดพ้น และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

    หัวใจของหลักเศรษฐกิจพอเพียงคือ การพัฒนาเศรษฐกิจที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทางสายกลาง และความไม่ประมาท โดยคำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ตลอดจนใช้ความรู้ความรอบคอบ และคุณธรรม ผลจากการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ คือ การพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และความรู้และเทคโนโลยี

    ‘มรดก’ และ ‘ภาระ’ ของคนรุ่นใหม่

    วิกฤตต้มยำกุ้งเป็นวิกฤตทางการเงินที่เริ่มขึ้นในประเทศไทยและลุกลามไปยังภูมิภาคเอเชียอย่างรวดเร็ว และแม้เวลาจะผ่านมากว่า 25 ปีแล้ว ผลของวิกฤตยังฝังลึกอยู่กับเศรษฐกิจไทยทั้งในด้านที่เป็น ‘มรดก’ และ ‘ภาระ’ ของ ‘คนรุ่นใหม่’ (ที่แม้จะเกิดไม่ทัน)

    ‘มรดก’ สำคัญของวิกฤตต้มยำกุ้งคือ องค์ความรู้ บทเรียน และกลไกป้องกันความเสี่ยงถูกสร้างขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจไทยต้องเกิดวิกฤตซ้ำอีก โดยเฉพาะการกำกับดูแลที่เข้มแข็งของ ธปท. และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จนทำให้มั่นใจได้ในระดับหนึ่งว่า ปัจจัยภายในประเทศจึงไม่ใช่องค์ประกอบที่จะทำให้เกิดความเสี่ยงให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจได้

    กระนั้น ‘ภาระ’ สำคัญที่ตกทอดแก่คนรุ่นใหม่สืบเนื่องมาจากวิกฤตต้มยำกุ้ง คือ หนี้สินที่เกิดขึ้นกับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินที่เข้าไปค้ำประกันและจ่ายคืนให้แก่ผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้ของสถาบันการเงิน โดยเฉพาะสถาบันการเงินที่ถูกปิดกิจการไปตั้งแต่ช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ

    ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบ ‘คนรุ่นใหม่’ ย่อมไม่อาจปฏิเสธ ‘มรดก’ และ ‘ภาระ’ ที่เกิดจากวิกฤตต้มยำกุ้ง แต่การเห็นที่มาที่ไป ความผิดพลาด และการถอดบทเรียน ย่อมมีส่วนทำให้สังคมไทยอยู่กับทั้ง ‘มรดก’ และ ‘ภาระ’ จากวิกฤต ได้ดีกว่าเดิม


    ข่าวอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
    นักเทนนิสชื่อดังชาวอเมริกันผิวดำชื่อ Frances Tiafoe
    S&P คาดราคาน้ำมันอาจพุ่งแตะ 121 ดอลลาร์ หากจีนเปิดประเทศ
    Everything You Wanted to Know About mega city’s
    กรมควบคุมโรค เตือน เดินลุยน้ำด้วยเท้าเปล่าเสี่ยงโรคไข้ฉี่หนู
    ติดตามข่าวอื่นๆได้ที่ https://www.iaamart.com/
    สนับสนุนโดย  ufabet369
    ที่มา www.bot.or.th